ทำยังไงดีกับสิวที่หลัง ? พบกับสาเหตุ วิธีป้องกัน พร้อมกับรักษาไปด้วยกันได้ในบทความนี้

Published on2018/08/10

Updated on2018/08/23

Sensenia officialSensenia official

3+ Loves

 

สิวที่หลังทำให้คุณรู้สึกไม่มั่นใจ รู้สึกดูไม่ดี จะใส่ชุดสวยๆ เดินอวดแผ่นหลังเนียนๆ ไม่ได้เหมือนใครเขา กลัวดูน่ารังเกียจในสายตาคนอื่นทั้งที่เราก็ไม่อยากให้เกิด มันผุดขึ้นมาอย่างไรกันโดยที่เราไม่รู้ตัว จะคลำหาก็ยาก ไม่เหมือนกับสิวที่เกิดขึ้นบนหน้า อย่างน้อยเรายังสามารถมองเห็นมันได้

คุณเป็นคนนึงที่กำลังประสบปัญหาสิวที่ขึ้นอยู่บนแผ่นหลังอยู่ใช่ไหม แล้วคุณอยากรู้ไหมว่าสิวเหล่านั้นมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ? จะป้องกันและรักษามันได้อย่างไร ? บทความนี้จะช่วยแก้ปัญหานั้นของคุณกัน

สิ่งนั้นบนแผ่นหลัง มันคือสิวแน่หรือ ?

ตุ่มนูนๆ แดงๆ บางทีที่เราเห็นอาจไม่ใช่สิวเสมอไป

มาเริ่มขั้นตอนแรก “แยกให้ออกว่าอะไรอยู่บนแผ่นหลังเรากันแน่”

 

สิวจากเชื้อรา Malassezia furfur

จริงๆ แล้ว กลไกการเกิดของสิวพวกที่ผุดบนหลังนี้แตกต่างจากสิวที่เกิดขึ้นบนหน้า แบคทีเรียที่มักเป็นสาเหตุของสิวโดยทั่วไปที่พบบนผิวหน้าคือ คือ P.acnes (Propionibacterium acnes) ออกเสียงว่า โพร-พิ-โอ-นิ-แบค-ที-เรียม-แอค-เนส

 

แตกต่างจากสิวที่เกิดขึ้นบนแผ่นหลัง ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อราชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Malassezia furfur เรียกมันว่า มา-ลาส-ซี-เซีย-เฟอร์-เฟอร์

 

เราจะพบ Malassezia furfur ได้บริเวณที่มีต่อมไขมัน (Sebaceous gland) เนื่องจากต่อมไขมันจะผลิตน้ำมันหรือไขมัน หรือที่เรียกว่า ซีบัม (Sebum)  ออกมา ซึ่งเป็นอาหารของเชื้อราชนิดนี้ และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของมันคือช่วง pH 4-8

 

กลไกในการเกิดสิวนั้น เริ่มจากเจ้า Malassezia furfur จะสังเคราะห์กรดไขมันอิสระ (Free fatty acid) ขึ้นมาจากน้ำมันหรือไขมันในต่อมไขมันของเรา ซึ่งไขมันอิสระจะทำให้เกิดการระคายเคืองผิว จนกระทั่งทำให้เกิดสิวอักเสบนั่นเอง   

 

Keratosis pilaris

Keratosis pilaris หรือ ขนคุด  เป็นอาการที่เกิดตุ่มเล็ก ๆ ที่เส้นขนไปอุดอยู่ในรูขุมขนและไม่สามารถงอกออกมาได้ จึงทำให้มองดูลักษณะผิวภายนอกเกิดเป็นตุ่มนูน

 

ก้อน Cyst ไขมัน

บางครั้งตุ่มนูนๆ ก้อนใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่หายไปสักที ดูมีทีท่าว่าจะโตขึ้นเรื่อยๆ นั้นอาจมาจาก ซีสไขมันที่เกิดใต้ผิวหนัง มีอยู่ 2 ชนิดคือ Sebaceous cyst: ซีสที่เกิดจากปุ่มขน และ Epidermoid cyst: ซีสที่เกิดจากผิวชั้นนอก อย่าตกใจไปล่ะ เพราะซีสพวกนี้ไม่ทำอันตรายอะไรให้กับเราหรอกนะ

และมักจะไม่ก่อให้เกิดอาการอักเสบ แต่ในบางกรณีหากมีแบคทีเรียเข้าไป ก็สามารถก่อให้เกิดการอักเสบ บวม แดงได้เช่นกัน

แต่ถ้าเราไม่ชอบมันละก็ สามารถกำจัดออกได้โดยวิธีผ่าตัด

 

ปัจจัยหลักของการเกิดสิวที่หลัง

มีซีบัม (Sebum)  มาก

บริเวณหลังเป็นพื้นที่ที่มีต่อมไขมัน หรือเรียกว่า ต่อมซีบาเชียส (Sebaceous gland) เป็นจำนวนมาก

ต่อมนี้เป็นต่อมที่ใช้ผลิตซีบัม (Sebum) ซึ่งถือได้ว่าเป็นแหล่งอาหารของเจ้า Malassezia furfur

 

ดังกลไกที่กล่าวมาข้างบน  Malassezia furfur สามารถสังเคราะห์กรดไขมันอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของสิวอักเสบ

 

ด้วยเหตุนี้ยิ่งต่อมไขมันที่หลังผลิตซีบัมออกมามาก ยิ่งเพิ่มโอกาสให้เกิดการอุดตันของไขมันที่รูขุมขน กลายเป็นที่สะสมของเจ้า Malassezia furfur

*พันธุกรรมก็มีผลต่อปริมาณซีบัม

 

ความไม่สมดุลของฮอร์โมน

นอกจากปัจจัยนอกร่างกายแล้ว ปัจจัยภายในร่างกายก็เป็นสิ่งสำคัญต่อการเกิดสิวเช่นกัน เช่น ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกายนั้นพบว่าก็เป็นปัจจัยภายในหลักๆ ต่อการเกิดสิวด้วย

ความไม่สมดุลของฮอร์โมนเกิดขึ้นได้จาก การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด ความไม่สมดุลของอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน หรือ ที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงมีรอบเดือนของสาวๆ

 

ไม่ถนอมผิวเอาซะเลย

เราอาจละเลยการดูแลผิวที่แผ่นหลังให้ดีเท่าบริเวณอื่น อาจเนื่องจากเป็นจุดที่อยู่ภายใต้เสื้อผ้า จึงคิดว่าค่อยไม่สำคัญเท่าไหร่

ผิวที่หลังสามารถถูกทำร้ายได้โดย  

  • ปล่อยให้มีคราบหมักหมมของเหงื่อไคล แถมด้วยกลิ่นตุ ๆ พาเอาคนรอบข้างรังเกียจอีกต่างหาก
  • หากคิดว่าการขัดถูแรงๆ ตอนอาบน้ำทำให้สะอาดล่ะก็ นั่นคุณกำลังคิดผิด !  
  • เกาแรงๆ เวลาคัน ถึงจะฟินแค่ไหนก็ไม่แนะนำนะ

 

ทำความสะอาดแชมพูหรือสบู่ไม่หมด

คราบสบู่และแชมพูก็เป็นสาเหตุของการเกิดสิวนะขอบอก

 

หลังจากอาบน้ำ สระผมเสร็จแล้ว คุณได้ตรวจสอบดูให้ดีก่อนออกจากห้องน้ำหรือไม่ว่ายังมีฟองสบู่ แชมพู ติดอยู่บนร่างกายหรือเปล่า ? หลายคนอาจละเลยไม่ได้สังเกตให้ดีว่าบนหลังยังมีคราบสบู่หรือแชมพูหลงเหลืออยู่หรือไม่ เนื่องจากบริเวณหลังเป็นจุดอับที่เราสังเกตได้ยาก

 

จะทำอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งแผ่นหลังที่เรียบเนียน?

วิธีเบื้องต้นที่สามารถทำได้เอง

หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหวานมัน

การรับประทานอาหารมันๆ หรือมีส่วนประกอบของน้ำตาลเป็นสาเหตุกระตุ้นให้ร่างกายผลิตซีบัมออกมามาก การเลือกบริโภคอาหารพวกผัก ผลไม้แคลลอรี่ต่ำ และอุดมไปด้วยวิตามินจึงเป็นตัวเลือกทดแทนที่แนะนำ  

 

ทะนุถนอมผิวสักนิด

มีหลายปัจจัยในชีวิตประจำวันสามารถทำร้ายผิวบริเวณแผ่นหลังได้ มีข้อแนะนำดูแล ต่อไปนี้

  • หยุดความฟินจากการเกาหลังแรงๆ เวลาคัน
  • ใช้วัสดุที่อ่อนโยนกับแผ่นหลัง เช่น ผ้าเช็ดตัวนุ่มๆ และ ใช้มือลูบเบาๆ ขณะอาบน้ำ ไม่ต้องกลัวว่าขี้ไคลจะไม่หมด โยนหินขัดหลังทิ้งไปได้เลย
  • ระวังคราบสบู่และแชมพูหลงเหลือหลังจากอาบน้ำ สระผม สำหรับสาวๆ มีผมยาวแนะนำให้สระผมก่อนอาบน้ำ
  • รักษาความสะอาดแผ่นหลังอยู่เสมอ อย่าให้มีเหงื่อไคลหมักหมม

*โดยเฉพาะคนที่ชอบออกกำลังกายควรเลือกเสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อได้ดี และชำระล้างร่างกายหลังออกกำลัง

 

ผิวสวยด้วยการพักผ่อนอย่างเพียงพอ

การนอนหลับอย่างเพียงพอนั้นต้องมี 2 องค์ประกอบที่เหมาะสม คือคุณภาพและระยะเวลา นั่นคือควรนอนหลับสนิทอย่างเพียงพอวันละ 6-8 ชั่วโมง เพราะการนอนอย่างเพียงพอนั้น ผลลัพธ์คือการได้มาซึ่งผิวสวย ไร้สิว ไม่หมองคล้ำ

 

ตัวช่วยอื่น ๆ

ผลิตภัณฑ์ช่วยผลัดเซลล์ผิว

เบื้องต้น สามารถใช้กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) เพื่อลอกผิวชั้นนอกที่ตายและละลายไขมันในรูขุมขนที่อุดตัน แต่ข้อเสียคือจะทำให้ผิวแห้งได้ จึงควรใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้น

 

Tea tree oil

Tea tree oil เป็นน้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นฉุน มีฤทธิ์ต้านเชื้อราและแบคทีเรีย ดั้งเดิมชนเผ่าอะบอริจินในออสเตรเลียใช้รักษาบาดแผล

มีผลิตภัณฑ์รักษาสิวมากมายในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และสปาได้นำ Tea tree oil มาใช้เป็นส่วนประกอบ

 

Apple cider vinegar

กระโดดขึ้นไปที่หัวข้อ “สิวจากเชื้อรา Malassezia furfur” เชื้อราชนิดนี้ชื่นชอบ pH ช่วง 4-8 ดังนั้น Apple cider vinegar หรือ น้ำส้มสายชูที่หมักจากผลแอปเปิ้ล ซึ่งมีความเป็นกรดอ่อนๆ จึงมีฤทธิ์ต้านและชะลอการเติบโตของเชื้อราชนิดนี้ได้ นอกจากนี้ความเป็นกรดยังต้านเชื้อแบคทีเรียได้ด้วย

 

กระเทียม

หลายคนที่ไม่ชอบกลิ่นของมัน อยากให้ทำใจแล้วหันมามองประโยชน์ของมันสักนิด ด้วยฤทธิ์ที่สามารถต้านเชื้อราและแบคทีเรียได้ อดทนกลิ่นของมัน โขลกมัน แล้วนำมาพอก ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีแล้วล้างออก

 

ปรึกษาแพทย์ผิวหนัง

การขอคำแนะนำจากแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุในเชิงลึกหากคุณลองหลายวิธีแล้วยังไม่ได้ผล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Copyright © HOKOSHA inc. All Rights Reserved.